2016 ปีแห่งการวิ่ง

ในการ์ตูนเรื่อง Vagabond ทาคุอันนักบวชแห่งวัดชิปโป กล่าวกับมิยาโมโต้ มูซาชิว่า “คนเราจะอดทนต่อการฝึกได้แค่ไหน ถ้าไร้ซึ่งจุดหมาย”

เข้าใจได้ทันทีว่าทำไมความพยายามวิ่งให้ได้อย่างสม่ำเสมอของเราถึงพังพินาศตลอด

โชคยังดีที่การวิ่งเป็นกีฬาที่มีการจัดแข่งขันอย่างสม่ำเสมอ ปีนึงหลายสิบครั้ง สถานที่วิ่งก็แต่งต่างกัน มีให้เลือกตั้งแต่ 5 จนถึง 100 กม. รายการที่ดูแล้วคูลที่สุด และมีระยะเวลาการซ้อมที่เหมาะสมตกเป็นของลากูน่า ภูเก็ตมาราธอน ตอนนั้นมีเวลาเหลือประมาณ 3 เดือน พอสำหรับการซ้อมเพื่อวิ่งเข้าเส้นชัยในระยะ Half Marathon ได้สบายๆ

เข้าไปดูภาพงานวิ่ง คนวิ่งมาราธอนช่างดูอ่อนแอเหลือเกิน ผอมแห้ง เนิร์ดๆ ถ้าพี่น้องเหล่านี้วิ่งเข้าเส้นชัยได้ เราก็น่าจะทำได้ไม่ยาก

5 กม.ของการวิ่งครั้งแรกทำให้เราต้องกลับมาคิดใหม่ แค่ 5 กม.วิญญาณกูจะหลุดออกจากร่างเลย แล้ว 21 กม.จะขนาดไหน และคนหน้าเนิร์ดเหล่านั้นเค้าวิ่งกันได้อย่างไร โชคดีที่ตารางซ้อมให้เริ่มจากระยะที่ดูตุ๊ดหน่อย เช่น 3 กม. พัก 1 วัน แล้ววิ่งอีก 5 กม. เรียกว่าอยู่ในระดับที่พอจะทำได้

แล้วก็เป็นอย่างที่ทาคุอันพูดไว้จริงๆ เราวิ่งได้อย่างสม่ำเสมอ ตามตาราง วันแล้ววันเล่า เบื่อก็ซื้อ เสื้อใหม่ กางเกงใหม่ นาฬิกาใหม่ กางเกงใหม่ หูฟังบลูทูธใหม่ หมวกใส่วิ่งใหม่ (อ่าห์ ไหนมูราคามิบอกว่าวิ่งเป็นกีฬาที่เรียบง่ายที่สุดไง การวิ่งนี่ช่างสิ้นเปลืองยิ่งนัก)

จบ Half Marathon ที่ภูเก็ตมาราธอน ต่อด้วย Human Run และปลายทางที่วางแผนไว้คือ Tokyo Marathon

ไปวิ่งมาราธอนแรกที่ญี่ปุ่น สัด! อย่างเท่!

ถ้าเป็นหนัง GTH เดือนมีนาคม 2017 เราจะวิ่งเข้าเส้นชัยที่ Tokyo Marathon ยืนมองฟ้าแล้วน้ำตาไหลผสมกับหยาดเหงื่อ

แต่ความเป็นจริงไม่เป็นแบบนั้น วิทย์ผู้ไม่ดวงเรื่องการจับฉลากก็จะยังคงไม่มีดวงเรื่องนี้ต่อไป

หลังจากพบกว่าไม่ได้ไปโตเกียวแล้ว ร่างกายคงเริ่มท้อแท้ และมีการการงอแงด้วยการเจ็บเอ็นฝ่าเท้าด้านนอก ทำให้ต้องหยุดวิ่งไปเกือบ 1 เดือน และก็เป็นอย่างที่ทาคุอันบอกไว้ ไม่มีมีเป้าหมาย ใครจะอดทนต่อการฝึกฝนได้

เคว้งควางอยู่เกือบ 2 เดือน โชคดีที่สามารถคงสมัครจอมบึงมาราธอนได้ทั้งๆที่เค้าปิดรับสมัครไปแล้ว ทำให้กลับมาวิ่งอย่างต่อเนื่องอีกครั้ง

ดูจากสถิติใน Strava แล้วเราตั้งเป้าไว้ว่าจะวิ่งให้ได้ 800 กม. ในปีนี้ (โดยเริ่มต้นที่เดือนเมษายนเป็นต้นมา) สรุปว่าขาดไป 26 กม. ซึ่งก็ถือว่าพอสมควร สถิติของทั้งปีถ้านับเฉพาะที่เริ่มใช้ Strava วิ่งไปได้ 774 กม. ใช้เวลาในการวิ่งทั้งหมด 83 ชม.

สำหรับปี 2016 การวิ่งไม่ใช่การออกกำลังกายแต่อย่างใด แต่เป็น Challenge ที่ต้องการทำในสิ่งที่ไม่คิดว่าจะทำได้ให้สำเร็จเท่านั้น

ผลพลอยได้จากการวิ่งคือร่างกายแข็งแรงขึ้น ตั้งแต่เริ่มวิ่งมายังไม่เป็นหวัดจริงจังเลย ซึ่งปีก่อนหน้านั้นจะเป็นหวัดแบบจริงจังทุกๆ 2-3 เดือน ซึ่งเป็นเรื่องที่เห็นผลชัดเจนที่สุด

ทุกวันนี้เวลามีคนมาถามว่า 21 กม.นี่วิ่งเข้าไปได้ยังไง มักจะตอบว่า 21 กม.นี่ง่ายมาก ทุกคนทำได้แน่ๆ แต่การตื่นตี 5 ขึ้นมาวิ่ง 4 วันต่อสัปดาห์เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งยวด เป็นเรื่องของการบริหารเวลา วินัย และความสม่ำเสมอล้วนๆ การผลักร่างให้ลุกขึ้นจากที่นอนอุ่นสบาย ยัดขนมปังใส่ปาก เปลี่ยนเสื้อผ้า และขับรถออกไปวิ่งในขณะที่คนอื่นยังนอนฝันอยู่ เป็นอะไรที่โคตรจะยากมาก ทรมานมากในช่วงแรกๆ (ส่วนฮารุกิ มูราคามินั้น ออกสัปดาห์ละ 6 วัน วันละ 10 กม. ตั้งแต่อายุ 33 ต่อเนื่องมาเป็นเวลาว่า 20 ปีแล้ว)

ทุกวันนี้เวลาเห็นคนวิ่งเข้าเส้นชัยในระยะมาราธอนได้ เราไม่ได้ชื่นชมที่เค้าวิ่งได้ไกล แต่เราชื่นชมสิ่งที่พาเค้ามาถึงระยะมาราธอนได้ เค้าต้องซ้อมยังไง กินอาหารแบบไหน จัดเวลาชีวิตยังไง เข้มงวดกับตัวเองขนาดไหน ถึงจะมายังจุดนี้ได้

เหมือนอย่างที่ทาคุอันบอกกับมูซาชิไว้ “คนเราจะอดทนต่อการฝึกได้แค่ไหน ถ้าไร้ซึ่งจุดหมาย”

ปีหน้าตั้งเป้าไว้ว่าจะวิ่งในระยะมาราธอนสักครั้งนึง (42.195 กม.) แล้วค่อยดูว่าจุดหมายต่อไปคืออะไร

จบ.

POST A COMMENT

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.